โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโรคติดเชื้ออันเกิดจากไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินทางหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 (SARS-CoV-2) มีการระบุโรคครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2562 ในนครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน และได้กระจายไปทั่วโลกนับแต่นั้น ส่งผลให้เกิดการระบาดทั่วของโควิด-19

อาการทั่วไป ได้แก่ ไข้ ไอ และหายใจลำบาก อาการอื่น ๆ อาจรวมถึงอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง เจ็บคอ ภาวะเสียการรู้กลิ่นและภาวะเสียการรู้รส แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่บ้างทรุดลงเป็นกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งน่าจะมีปัจจัยกระตุ้นจากพายุไซโตไคน์ อวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะ ช็อกเหตุพิษติดเชื้อ และลิ่มเลือด เวลาตั้งแต่การสัมผัสจนถึงเริ่มแสดงอาการตามแบบฉบับอยู่ที่ 5 วัน แต่อาจมีได้ตั้งแต่ 2-14 วัน

ไวรัสแพร่ระบาดได้ระหว่างบุคคลในช่วงที่มีการสัมผัสใกล้ชิดเป็นหลัก มักผ่านละอองเสมหะขนาดเล็กที่เกิดจากการไอ จามหรือสนทนา แม้ละอองเสมหะเหล่านี้เกิดเมื่อหายใจออก แต่ปกติจะตกลงสู่พื้นหรือติดค้างบนพื้นผิว ไม่ใช่ติดเชื้อได้จากระยะไกล บุคคลอาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วนำมาแตะตา จมูกหรือปากของตน ไวรัสสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวได้นานถึง 72 ชั่วโมง ไวรัสติดต่อทางสัมผัสได้มากที่สุดระหว่างสามวันแรกหลังเริ่มแสดงอาการ กระนั้นไวรัสอาจแพร่ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มปรากฏอาการและในโรคระยะหลังแล้ว
วิธีการวินิจฉัยมาตรฐาน คือ ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรสย้อนกลับแบบเรียลไทม์ (rRT-PCR) จากการกวาดคอหอยส่วนจมูก การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ทรวงอกอาจเป็นประโยชน์สำหรับวินิจฉัยผู้ที่ต้องสงสัยติดเชื้อมากโดยอาศัยอาการและปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่แนะนำให้ใช้คัดกรองเป็นกิจวัตร

มาตรการที่แนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ การหมั่นล้างมือ การเว้นระยะห่างทางกายกับผู้อื่น (โดยเฉพาะจากผู้ที่มีอาการ) การปิดการไอและจามด้วยกระดาษทิชชูหรือข้อพับศอก และงดนำมือที่ไม่ได้ล้างแตะใบหน้า แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีไวรัสและผู้ดูแลบุคคลเหล่านั้น คำแนะนำการใช้หน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนทั่วไปนั้นแตกต่างกันไปตามหน่วยงาน บ้างไม่แนะนำให้ใช้ บ้างแนะนำให้ใช้ และบ้างกำหนดว่าต้องใช้

มีการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 ออกมาแล้วหลายชนิด เช่น ไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า ซิโนแวค แอสต้าซินิก้า ฯลฯ และหลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการให้วัคซีนแก่ประชาชนของตัวเอง การรักษาหลักๆ เป็นการรักษาอาการ การประคับประคอง การแยกตัว และมาตรการในขั้นทดลอง องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และเป็นโรคระบาดทั่วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 มีการบันทึกการแพร่เชื้อในท้องถิ่นในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาค WHO ทั้งหกภูมิภาค

ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ สูญเสียการรับกลิ่นและรส คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ มีไข้ ถ่ายเหลว และหายใจลำบาก ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดียวกันอาจมีอาการแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงได้เมื่อการป่วยดำเนินไป โดยทั่วไปแล้วพบการเจ็บป่วยได้ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ แบบที่มีอาการระบบหายใจเป็นหลัก คือไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก และมีไข้, แบบที่มีอาการทางระบบกล้ามเนื้อเป็นหลัก คือปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหัว อ่อนเพลีย, และแบบที่มีอาการทางระบบย่อยอาหารเป็นหลัก คือปวดท้อง อาเจียน และถ่ายเหลว อาการสูญเสียการรับกลิ่นและรสเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยบางรายงานพบว่าหากไม่นับผู้ที่มีโรคของหู คอ จมูก อยู่เดิมแล้วสามารถพบอาการนี้ได้สูงสุดถึง 88%

ในบรรดาผู้ป่วยที่มีอาการ ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (นับถึงการมีปอดอักเสบเล็กน้อย) คิดเป็น 81%, อีก 14% จะมีอาการรุนแรง (หายใจลำบาก ออกซิเจนต่ำ หรือมีรอยโรคที่ปอดมากกว่า 50% จากการตรวจภาพถ่ายรังสี), และอีก 5% จะมีอาการถึงขั้นวิกฤติ (การหายใจล้มเหลว ช็อก อวัยวะล้มเหลว) มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตั้งแต่ติดเชื้อจนหายไม่มีอาการใดๆ เลย ซึ่งบางรายงานพบว่าอาจมีมากถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ และสามารถแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้ ผู้ป่วยระยะก่อนมีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ หลังจากได้รับเชื้อแล้วผู้ป่วยจะมีระยะเวลาที่ยังไม่แสดงอาการอยู่ช่วงหนึ่ง เรียกว่า ระยะฟักตัว โดยระยะฟักตัวของโควิด-19 มีค่ามัธยฐานอยู่ที่ประมาณ 4-5 วัน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 2-7 วัน และเกือบทั้งหมดจะไม่เกิน 12 วัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจยังมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่แม้จะหายป่วยจากระยะเฉียบพลันแล้ว เช่น อ่อนเพลีย เป็นต้น เรียกว่า ผลระยะยาวของโควิด-19 บางรายงานพบอาการเช่นนี้ในกว่าครึ่งของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่รับการรักษาที่บ้าน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีการทำงานของอวัยวะบกพร่องในระยะยาวหลังหายป่วยระยะเฉียบพลัน ทั้งนี้ยังมีการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาผลระยะยาวของโรคนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง