แผนที่ - จังหวัดหนองคาย (Changwat Nong Khai)

จังหวัดหนองคาย (Changwat Nong Khai)
หนองคาย เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดเลย และยังมีชายแดนติดต่อกับแขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซของประเทศลาว จังหวัดหนองคายมีพื้นที่แคบแต่ยาว และมีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการชมบั้งไฟพญานาคในเทศกาลวันออกพรรษา

เมืองหนองคายมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารล้านช้างตลอดยุคสมัย ดังเช่นปรากฏเป็นชื่อเมืองเวียงคุก เมืองปะโค เมืองปากห้วยหลวง (อำเภอโพนพิสัยในปัจจุบัน) และนอกจากนี้ยังปรากฏในศิลาจารึกจำนวนมากที่กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้สร้างไว้ในบริเวณจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะเมืองปากห้วยหลวงเป็นเมืองลูกหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยพระเจ้าวรรัตนธรรมประโชติฯ พระราชโอรสในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดมุจลินทรอารามอยู่ที่เมืองห้วยหลวง และยังพบจารึกที่วัดจอมมณี ลงศักราช พ.ศ. 2098 จารึกวัดศรีเมือง พ.ศ. 2109 จารึกวัดศรีบุญเรือง พ.ศ. 2151 เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอิทธิพลล้านช้างจำนวนมาก เช่น พระธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะพระธาตุบังพวน สร้างก่อน พ.ศ. 2106 จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา (อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู) ลงศักราช พ.ศ. 2106 กล่าวถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อุทิศข้าทาสและที่ดินแก่วัดถ้ำสุวรรณคูหา และได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่พระธาตุบังพวนอีกด้วย และบริเวณที่ตั้งเมืองหนองคายหรือจังหวัดหนองคาย ในยุคก่อนจะตั้งเมืองหนองคายขึ้น แต่เดิม บริเวณพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ นามว่า บ้านไผ่หรือบ้านหนองไผ่ ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่นักและขึ้นตรงกับนครหลวงเวียงจันทน์

ต่อมาจะกล่าวถึงที่มาของดินแดนแถบนี้ที่ถูกขนานนามว่า "เมืองปากห้วยหลวง 3 กษัตริย์" บริเวณที่ตั้งอำเภอโพนพิสัยปัจจุบัน เป็นเมืองเก่าตามพงศาวดารล้านช้างเรียกว่า "เมืองปากห้วยหลวง" พ.ศ. 1901 พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช เริ่มก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง และตีเมืองนี้ได้ และมีฐานะเป็น "เมืองหลวง" ซึ่งส่งเจ้าชายในราชวงศ์ล้านช้างมาครองเป็น "พญาปากห้วยหลวง" บางพระองค์ได้มีโอกาสไปครองราชย์ที่ นครเชียงทอง ถึง 2 พระองค์ด้วยกัน คือ หลังจากพระเจ้าสามแสนไทสวรรคต พ.ศ. 1958 แล้ว พระเจ้าล้านคำแดงโอรสได้ครองราชย์ต่อถึง พ.ศ. 1970 จึงสวรรคตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่โบราณราชประเพณีไทย-ลาว สตรีจะครองราชย์ไม่ได้ เจ้าคำเต็ม พญาปากห้วยหลวง พระสวามีเจ้าหญิงจึงครองแทนพักหนึ่ง แล้วหนีกลับเมืองปากห้วยหลวงดังเดิม นางแก้วพิมพาซึ่งมีอำนาจมากในราชสำนักได้เชิญเจ้านายในราชวงศ์ครองราชย์ต่อหลายพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 1971-1980 ครั้นจุบรรลุพระราชนิติภาวะก็มีเหตุสวรรคตติด ๆ กันถึง 5-6 พระองค์ จนมาเชิญ เจ้าคำเกิด โอรสพญาปากห้วยหลวง (คาดว่าเป็นโอรสพระเจ้าคำเต็มจากชายาอื่น) ไปครองราชย์อีกและสวรรคต พ.ศ. 1983 อีก คราวนี้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีทนไม่ไหว จับพระนางแก้วพิมพาถ่วงแม่น้ำคาน ทางเหนือนครหลวงพระบางเสียและเชิญเจ้าไชยครองราชย์ พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว สืบมา

เมืองปากห้วยหลวง เกิดช้างเผือกอีกเชือกหนึ่ง เมื่อหลังสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช พ.ศ. 2114 พระเจ้าบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศพิชิตเวียงจันทน์ ได้นำพระหน่อแก้วกุมาร ราชโอรสไปเมืองหงสาวดีเป็นตัวประกัน พระชันษาเพียง 5 ปี แล้วให้ตาสำเร็จราชการ"อาณาจักร์ล้านช้าง"แทน จารึกว่าพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้าสุมังโดอัยโกโพธิสัตว์ อดีตพระยาปากห้วยหลวง พงศาวดารว่าท่านเป็นบุตรกวานบ้านฝั่งขวา (ผู้ใหญ่บ้าน) รับราชการทหาร รบเก่งและคงถวายบุตรสาวเป็นสนมด้วย ดังนั้นที่ชาวหนองคายเชื่อกันมาจึงมิใช่เรื่องเหลวไหล โดยนางสนม (ไม่ทราบ) อาจมีพระราชธิดาโอรส 4 พระองค์ คือ "พระสุก พระเสริม พระใส" ซึ่งสร้างฉลองพระองค์ ส่วนองค์สุดท้ายคือพระราชโอรสชันษา 5 ปี พระหน่อแก้วกุมาร พม่าจึงต้องให้ตาสำเร็จราชการให้หลานจึงมี "อัยโก" (ตา) ต่อท้าย นับว่าพญาปากห้วยหลวงเป็นกษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระบาง) 2 พระองค์ และผู้สำเร็จราชการ (เวียงจันทน์) อีก 1 ท่าน รวม 3 กษัตริย์ พ.ศ. 2103 เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ถอยทัพหนีพม่าล่องมาจากเชียงใหม่ และหลวงพระบาง หลังจากนั้นเมืองปากห้วยหลวงก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง คาดว่าเพราะการวิวาทกันภายในราชวงศ์ล้านช้าง ตั้งแต่พระบรมราชาแห่งนครพนม พระราชโอรส พระเจ้านันทราชกรีพาทัพมาปราบ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 พ.ศ. 2241 ถึงเมืองคุกชายฟอง (เวียงคุก-บ้านทรายฟอง) และกวาดต้อนผู้คนกลับ และต่อมาบริเวณจังหวัดหนองคาย ได้มีกลุ่มผู้คนอพยพมาตั้งชุมชนและเมืองขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ๆและสำคัญอยู่ 2 กลุ่ม กล่าวคือ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ พ.ศ. 2250 สมเด็จเจ้าราชครูวัดโพนสเม็ก (ญาคูขี้หอม) อพยพคนไปซ่อมพระธาตุพนมครั้งที่ 4 ล่องไปจนตั้งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เมื่อญาคูขี้หอมอพยพผู้คนไปภาคใต้นั้น ศิษย์เอกสำคัญท่านหนึ่ง คือ จารย์แก้ว หรือ เจ้าแก้วมงคล(เจ้าแก้วบูลม บูฮม) ได้ตั้ง '"เมืองทุ่ง"' (ท่ง) หรือ เมืองสุวรรณภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เป็นเมืองด่านหน้ายันกับเวียงจันทน์ เชื้อสายของท่านได้แยกย้ายสร้างบ้านแปงเมืองหรือปกครองเมืองมากมาย เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น และภายหลังกลุ่มพระวอ และพระตา ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักเวียงจันทน์ มีความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร ด้วยสาเหตุไม่แจ้งชัด ได้พาเอาไพร่พลกองครัวญาติพี่น้อง อพยพหนีจากเวียงจันทน์ไปตั้งเมืองอยู่ที่หนองบัวลำภู และถอยร่นลงไปยังดอนมดแดงและตั้งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ เป็นต้น ที่กล่าวถึงกลุ่มเจ้าจารย์แก้วและกลุ่มพระวอพระตา เนื่องจากทั้ง2กลุ่มล้วนมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างเมืองต่างๆภายในจังหวัดหนองคายในปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2322 กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ชัยชนะกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์แล้ว พื้นที่บริเวณเมืองหนองคายยังอยู่ใต้ความควบคุมของนครหลวงเวียงจันทน์เช่นเดิม รวมถึงเมืองปากห้วยหลวงเดิมด้วย

ครั้น พ.ศ. 2369 – 2370 พระเจ้าไชยเชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) แห่งเวียงจันทน์ แข็งเมืองบุกมาถึงนครราชสีมา และถูกยันทัพกลับไปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ่ต่อมาได้รับการพระราชทานอวยยศเป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก เป็นแม่ทัพหน้าปราบเวียงจันทน์ได้ครั้งที่ 1 แต่เจ้าอนุวงศ์หนีไปได้ ต่อมาล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงดาบอาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาราชสุภาวดี อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ต่อมาได้รับการพระราชทานราชทินนามเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพยกทัพปราบครั้ง 2 ตั้งทัพอยู่ค่ายพานพร้าว (บริเวณ นปข.ปัจจุบัน) และถูกหลอกล่อจนค่ายแตกหนีไปเมืองยโสธร คู่อริต่อเวียงจันทน์ดั้งเดิมจึงตามมาสมทบ เช่น บุตรหลานพระวอ-พระตา แห่งอุบลราชธานี และบุตรหลานจารย์แก้วแห่งสุวรรณภูมิ ช่วยเจ้าคุณสมุหนายกถล่มเวียงจันทน์จน "ฮ้างดังโนนขี้หมาจอก" หน่วยโสถิ่ม (กล้าตาย) นำโดย ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) อุปฮาดยโสธร หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายกรุงเทพฯ มีนโยบายอพยพผู้คนมาฝั่งภาคอีสานจึงยุบเมืองเวียงจันทน์ปล่อยให้เป็นเมืองร้าง ชาวเมืองเวียงจันทน์บางส่วนก็อพยพมาภาคกลางและบางส่วนก็อยู่ที่บริเวณเมืองเวียงคุก เมืองปะโค (อำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน) เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านไผ่หรือบ้านหนองไผ่ ขึ้นเป็นเมืองหนองค่าย(คำว่า "หนองคาย" ถูกเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "หนองค่าย" ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า "หนองน้ำบริเวณที่ตั้งของค่ายทหาร" ซึ่งคำว่าหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็น"หนองคาย"ใน สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นมา) ต่อมาโปรดเกล้าให้ ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) เป็น พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 แห่งเมืองหนองคาย ต้นตระกูล ณ หนองคาย และ ท้าวตาดี บุตร พระยาขัติยวงษา (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ด เชื้อสายเจ้าจารย์แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก จากความดีความชอบที่ได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า "เจ้าโพนแพง" ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็น "เมืองโพนแพง" ท้าวตาดีได้เป็น พระยาพิสัยสรเดช เจ้าเมืองคนแรก ต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่อ พ.ศ. 2373 ต้นตระกูล พิสัยพันธ์,สิงคศิริ,สิมะสิงห์,สิริสิงห์ สืบมาจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ชัดแจ้ง พระพิสัยสรเดช (ตาดี) ได้ย้ายที่ตั้งเมืองจากโพนแพงมาอยู่ ณ เมืองปากห้วยหลวงเก่า ซึ่งคงจะร้างในสมัยนั้น และเอาชื่อเมืองโพนพิสัยมาตั้งที่นี่ พื้นที่ตำบลโพนแพงก็ห่างไกล จึงขอยก " บ้านหนองแก้ว" ขึ้นเป็น"เมืองรัตนวาปี" อีกเมืองหนึ่ง หลังจากเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์และก่อตั้งเมืองหนองคายได้ไม่นาน เมืองหนองคายได้รับฐานะเป็นเมืองประเทศราช โดยยุบเมืองเวียงจันทน์(ร้าง)ซึ่งพึ่งถูกทัพสยามทำลายไปให้มาขึ้นกับเมืองหนองคาย และ ณ. ขณะนั้น ทั้งเมืองหนองคาย และ เมืองโพนพิสัย ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน แต่ล้วนเป็นเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพทั้งคู่ โดยเมืองโพนพิสัยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ อำเภอโพนพิสัย,อำเภอรัตนวาปี,อำเภอเฝ้าไร่ ของจังหวัดหนองคาย อำเภอเพ็ญ,อำเภอสร้างคอม ของจังหวัดอุดรธานี และ อำเภอโซ่พิสัย,อำเภอปากคาด ของจังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน

ต่อมาเมืองหนองคาย มีเจ้าเมืองอีก 2 คน คือ พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) ผู้เป็นบุตรและพระยาปทุมเทวาภิบาล (เสือ ณ หนองคาย) ผู้เป็นหลาน

พ.ศ. 2380 พระประทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอ) ผู้เป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมอุปฮาด (เคน) ได้เป็นเจ้าเมืองหนองคาย ในปี พ.ศ. 2383 และมีบรรดาศักดิ์เป็นพระปทุมเทวาภิบาลเหมือนกัน

ทางฝั่งเมืองโพนพิสัย ในปีพ.ศ. 2389 วันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พระยาขัติยวงษาสีลัง เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ป่วยและถึงแก่กรรม อุปฮาดสิงห์ ราชวงศ์อินบุตร จึงพาเจ้าเพี้ยลงมากรุงเทพฯ พบกับพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)เจ้าเมืองโพนพิสัย ซึ่งเป็นพี่ชายของพระขัติยวงษาอินทร์และอุปฮาดสิงห์ และเป็นบุตรของพระยาขัติยวงษาสีลัง พระยาพิสัยสรเดชจึงพาอุปฮาดราชวงศ์ท้าวเพี้ย กรมการเมืองร้อยเอ็ด ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชเจ้าเมืองโพนพิสัย กลับไปรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด พระยาพิสัยสรเดชจึงให้บุตรหลานรักษาการเมืองโพนพิสัยแทน ครั้นพระยาพิสัยสรเดชลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ด จัดการเผาศพพระยาขัติยวงษาสีลังพระบิดาเสร็จแล้ว คืนวันหนึ่งอุปฮาดสิงห์ผู้เป็นน้องชายได้ตั้งบ่อนโป นัดให้พระยาพิสัยสรเดชกับพวกนักเลงมาเล่นที่หอนั่งบ้านพระยาขัติยวงษา ครั้นเวลาดึกมีคนมาลอบแทงพระยาพิสัยสรเดชถูกที่สีข้างซ้าย ถึงแก่กรรม ได้ความว่าอุปฮาดสิงห์เกี่ยวข้องในคดีนี้ ครั้นความทราบถึงกรุงเทพฯ จึงมีตราโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุวรรณภูมิส่งตัวอุปฮาดสิงห์และบรรดาบุตรหลานของพระยาขัติยวงษา ลงมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ตุลาการชำระคดี อุปฮาดสิงห์ พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้ใช้ให้จีนจั้นมาแทงพระยาพิสัยสรเดช อุปฮาดสิงห์เลยต้องถูกจำคุกตายอยู่ในที่คุมขัง พระยาพิสัยสรเดชซึ่งป็นพี่ชายต่างมารดากับอุปฮาดสิงห์และราชวงศ์อินทร์ ราชวงศอินทร์ภายหลังเป็นพระยาขัติยวงษา(อินทร์ ธนสีลังกูร)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านที่ 3 อีกทั้งพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)ยังเป็นน้องร่วมมารดากับญาแม่ปทุมมา ซึ่งเป็นย่าของพระเจริญราชเดช (ท้าวอุ่น ภวภูตานนท์) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 3 ต่อมาได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่พึงเชื่อถือได้แน่นอน ปรากฏว่าอุปฮาดสิงห์หาได้เป็นผู้วางแผนฆ่าพระยาพิสัยฯ ตามที่เล่ามานั้นไม่ เมื่อพิจารณาจากเหตุผลจากสิ่งแวดล้อมต่างๆแล้ว เห็นว่ามีอยู่หลายกรณีที่อ้างอิงประกอบได้ เช่น คราวที่พระยาพิสัยฯ พร้อมอุปฮาดสิงห์ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข่าวการอสัญกรรมของพระยาขัติยวงษาสีลังผู้บิดานั้น อุปฮาดสิงห์ก็ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนพี่ชายเป็นอย่างดี จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชกลับมารับราชการเมืองร้อยเอ็ด และโดยปกติสองพี่น้องนี้มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมาก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจีนจั้นผู้แทงพระยาพิสัยฯ ก็เคยมีอริวิวาทกันกับพระยาพิสัยฯ มาช้านาน อนึ่งตามเนื้อเรื่องที่ว่า “พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์ ได้ให้จีนจั้นแทงพระยาพิสัยฯ และอุปฮาดสิงห์เลยต้องจำตายอยู่ในที่คุมขัง” จากข้อเท็จจริงโดยคำยืนยันของพระเจริญราชเดช (อุ่น) หลานญาแม่ปทุมมาซึ่งเป็นพี่สาวของพระยาพิสัยฯ เอง ได้ความชัดว่าอุปฮาดสิงห์ได้ดื่มยาพิษถึงแก่กรรมในระหว่างทางก่อนจะถึงกรุงเทพฯ ใกล้เมืองนครราชสีมา และญาติได้ค้นพบจดหมายลาตาย ถึงภรรยาว่า “เราไม่เคยคิดขบถต่อเจ้าพี่โพนแพงเลย ตายเองดีกว่าที่จะถูกคนอื่นประหาร เลี้ยงลูกใหดีจนได้ไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก” ส่วนจีนจั้นนั้นรับสารภาพและไม่มีการซัดทอดผู้ใดเลย เป็นอันว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการพิจารณาคดีของสยามหรือไทยในสมัยก่อนที่ยังมีข้อบกพร่องในการหาหลักฐานและความไม่ชัดเจนในการตัดสินคดีอยู่พอสมควร

มาทางฝั่งเมืองหนองคาย ในสมัยที่พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองนี้เองก็เกิดศึกสำคัญขึ้นเรียกกันว่าศึกฮ่อ ครั้งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2420 แต่ในระยะนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) ไม่ได้อยู่ในหนองคายมีราชการต้องมาต้อนรับพระยามหาอำมาตย์เสียที่เมืองอุบลราชธานีและได้มอบกิจการบ้านเมืองให้ท้าวจันทรศรีสุราช (ชื่น) รักษาราชการแทน พวกฮ่อได้ตีหัวเมืองลายทางเรื่อยมาจนเข้ายึดเอาเวียงจันทร์ไว้ได้ พวกกรมการเมืองหนองคายแทนที่จะหาทางป้องกันข้าศึกกับคิดอพยพหนีพวกฮ่อ โดยท้าวจันทรศรีสุราชกับครอบครัวหนีไปอยู่บ้านพรานพร้าวอุดรธานี เมื่อตัวนายไม่คิดสู้พวกราษฎร์ก็พลอยขวัญเสียอพยพออกจากเมืองบางเหตุการณ์ในตอนนี้ถึงกับทำให้เมืองหนองคายตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างนอกนี้เมืองใกล้ ๆ กัน คือเมืองโพนพิสัยก็พลอยไม่คิดสู้ขี้นมาอีก พระพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองอพยพครอบครัวหนีไปอยู่บึงกาฬ ส่วน ราชวงศ์เมืองหนองคาย ซึ่งถูกส่งมารักษาการแทนกับพระพิสัยสรเดช (หนู) ถูกพวกฮ่อฆ่าตาย ทางกรุงเทพจึงได้มีพระบรมราชองค์การให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งไปราชการ ณ เมืองอุบลราชธานี นั้น เกณฑ์ทัพเข้าปราบฮ่อกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ได้ยกเข้ามาตั้งพักอยู่ที่เมืองหนองคายแล้วก็สั่งให้จับเอาเท้าจันทรศรีสุราชและพระยาพิไสยสรเดช(หนู)ไปประหารชีวิตเสียทั้งคู่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไปจากนี้ก็เกณฑ์คนในเมืองต่าง ๆ คือ นครพนม มุกดาหาร เขมราฐ อุบลและร้อยเอ็ด เข้าสมทบกับกองทัพเมืองหนองคาย รวมพลได้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน แล้วยกออกไปตีเมืองเวียงจันทร์ซึ่งพวกฮ่อสู้ไม่ได้แตกและทิ้งกรุงเวียงจันทร์ไป กองทัพของพระยามหาอำมาตย์ก็กลับมาพักที่หนองคายจัดกิจกรรมบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็กลับกรุงเทพฯ ครั้งนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายได้ติดตามลงมากรุงเทพฯ ด้วย 
แผนที่ - จังหวัดหนองคาย (Changwat Nong Khai)
ประเทศ - ไทย
แผนที่ - ไทยimage.jpg
image.jpg
1404x2111
freemapviewer.org
แผนที่ - ไทยThailand_location_map_Topographic.png
Thailand_location_ma...
2000x3517
freemapviewer.org
แผนที่ - ไทย1051px-Thailand_location_map.svg.png
1051px-Thailand_loca...
1051x1849
freemapviewer.org
แผนที่ - ไทยUn-thailand.png
Un-thailand.png
2348x2947
freemapviewer.org
แผนที่ - ไทยimage.jpg
image.jpg
1404x2111
freemapviewer.org
สกุลเงินตรา / Language  
ISO สกุลเงินตรา สัญลักษณ์ เลขนัยสำคัญ
THB บาท (Thai baht) ฿ 2
ISO Language
TH ภาษาไทย (Thai language)
Neighbourhood - ประเทศ  
  •  มาเลเซีย 
  •  ลาว 
  •  สาธารณรัฐเขมร 
  •  เมียนมา