ปอนด์สเตอร์ลิง

ปอนด์สเตอร์ลิง
£
ปอนด์สเตอร์ลิง (pound sterling) (สัญลักษณ์: £; รหัส ISO 4217: GBP) เป็นสกุลเงินตราอย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร, เจอร์ซีย์, เกิร์นซีย์, ไอล์ออฟแมน, ยิบรอลตาร์, เกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช, บริติชแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี และตริสตันดากูนยา หนึ่งปอนด์สเตอร์ลิงสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 100 เพนนี ปอนด์สเตอร์ลิงยังเป็นสกุลเงินที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกใช้จนถึงปัจจุบัน

เงินปอนด์เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1320 ราชอาณาจักรแซกซัน (อาจเรียกว่าพวกอังกฤษสมัยโบราณก็ได้ แต่ความจริงแล้ว แซกซันไม่ได้เป็นบรรพบุรุษโดยตรงของอังกฤษปัจจุบัน) ได้ทำเหรียญกษาปณ์ขึ้นจากโลหะเงินแท้ น้ำหนัก 1 ปอนด์ ซึ่งได้เหรียญเงินเป็นจำนวน 240 อัน เรียกว่าเหรียญสเตอร์ลิง และด้วยน้ำหนักเท่ากับ 1 ปอนด์นี้เอง เมื่อต้องใช้จ่ายเงิน ก็จะบอกค่าเป็นจำนวนปอนด์ของเหรียญสเตอร์ลิง (pounds of sterlings) และภายหลังเรียกสั้นลงว่า ปอนด์สเตอร์ลิง (pound sterling)

ครั้นเมื่อพวกนอร์มัน (Norman) เข้ามาครองอำนาจแทนพวกแซกซัน พวกนี้ได้แบ่งหน่วยเงินตราปอนด์ออกเป็นหน่วยย่อย คือ 1 ปอนด์ แบ่งได้ 20 ชิลลิง (shilling) และ 1 ชิลลิง ยังแบ่งได้อีกเป็น 12 เพนนี (เอกพจน์ penny, พหูพจน์ pennies หรือ pence)

เรื่องค่าของปอนด์นั้นยังไม่จบ เพราะตัวย่อของปอนด์นั้นมีปัญหา เมื่ออักษรย่อของปอนด์นั้น ใช้ lb หรือ £ ซึ่งทำให้สับสน และอักษรย่อ หรือเครื่องหมายดังกล่าว มีที่มาจากคำว่า libra ในภาษาละตินสมัยกลาง ความจริงแล้ว คำว่า ลิบรา ก็คือ ตาชั่ง (คำเดียวกับที่เรียกกลุ่มดาวราศีตุล) สำหรับอักษร £. นั้น ก็คือตัว L นั่นเอง (ใช้ได้ทั้งสองแบบ) ในตำราเก่าๆ บางครั้งเขียน l. เฉยๆ ก็มี

ส่วนชิลลิงนั้น ใช้อักษรย่อว่า s เฉย ๆ ตัวอักษรนี้ไม่ได้ย่อจาก shilling แต่มาจาก solidus ในภาษาละติน สำหรับหน่วยเล็กสุด คือ เพนนีนั้น ย่อเป็น d เพราะในภาษาละตินนั้น หน่วยเล็กสุดของค่าเงินคือ denarius เราจึงอาจพบการเขียนบอกจำนวนเงินเป็น 2l. 8s. 5d. นั่นคือ 2 ปอนด์ 8 ชิลลิง กับอีก 5 เพนนี

สำหรับเหรียญชิลลิงนั้น มีค่าเท่ากับ 12 เพนนี เดิมเรียกว่าเทสทัน หรือเทสทูน (teston, testoon) เริ่มมีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2047 มีการแกะสลักเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ครั้นในสมัยรัชกาลพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ยังคงใช้เหรียญค่านี้ แต่เรียกใหม่ว่า ชิลลิง ส่วนที่มาของชื่อนั้น จริงๆ แล้วยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เข้าใจว่าเรียกตามเหรียญของพวกอังโกล-แซกซัน คือสคีลลิง (scilling, scylling) และบางรัฐของเยอรมนีก็มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่เรียกว่า ชิลลิง (schilling) เหมือนกัน

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2464 ค่าของชิลลิงเป็นแต่ชื่อเรียกเท่านั้น ไม่ได้มีการผลิตเหรียญเงินค่าชิลลิงออกมา และอีก 26 ปีต่อมา มีการผลิตเหรียญชิลลิง โดยใช้โลหะผสมระหว่างทองแดง และนิกเกิล เรียกว่าโลหะคิวโพรนิเกิล เมื่อถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 อังกฤษได้เปลี่ยนมาตราเงินแบบเทียบร้อยตามหลักสากล คือ 100 เพนนี เป็น 1 ปอนด์ โดยไม่ใช้หน่วยชิลลิงอีก ทำให้อักษรย่อชิลลิงจึงหมดไป อักษรย่อเพนนี เปลี่ยนจาก d เป็น p ซึ่งย่อมาจากคำว่าเพนนี (penny) โดยตรง

ประเทศ
  • บริติชอินเดียนโอเชียนเทร์ริทอรี
    บริติชอินเดียนโอเชียนเทร์ริทอรี (British Indian Ocean Territory) หรือ หมู่เกาะชาโกส เป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างแอฟริกากับอินโดนีเซีย อาณาเขตครอบคลุมอะทอลล์ทั้ง 6 แห่งที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะชาโกส มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะดีเอโกการ์ซีอา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกองกำลังผสมสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

    ชาวเกาะมัลดีฟส์ รู้จักหมู่เกาะชาโกสเป็นอย่างดี ในตำนานของมัลดีฟส์ พวกเขารู้จักในชื่อ Feyhandheebu (ފޭހަންދީބު) หรือ Hollhavai (ชื่อหลังเป็นคำเรียกโดยชาวเกาะมัลดีฟส์ทางใต้ ที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะชาโกส) จากเรื่องเล่าของชาวเกาะมัลดีฟส์ทางใต้ เมื่อมีพ่อค้าหรือชาวประมงประสบเหตุสูญหายในทะเล ก็มักจะพบว่าติดอยู่บนเกาะของหมู่เกาะชาโกส และในที่สุดพวกเขาจะถูกช่วยเหลือและได้เดินทางกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะนี้ถูกพิจารณาว่าอยู่ไกลเกินไปจากศูนย์อำนาจของราชวงศ์มัลดีฟส์ในการที่จะตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ดังนั้นหมู่เกาะชาโกสจึงถูกละเลยจากประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว
  • สหราชอาณาจักร


  • เกิร์นซีย์
    เกิร์นซีย์ (Guernsey ;) เป็นเกาะหนึ่งในช่องแคบอังกฤษ นอกชายฝั่งนอร์ม็องดี อยู่ในการปกครองของเขตเจ้าพนักงานศาลเกิร์นซีย์ ซึ่งมีสถานะเป็นดินแดนในปกครองของบริเตนใหญ่ (British Crown Dependency) โดยเกิร์นซีย์เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในช่องแคบ โดยส่วนการปกครองนั้นประกอบด้วยเขตแพริชจำนวน 10 เขตบนเกาะเกิร์นซีย์ และอีกสามเขตในเกาะอื่นๆ จำนวนสามเกาะ (เฮิร์ม เจธู และลีอู)

    ถึงแม้เกิร์นซีย์จะไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร แต่การป้องกันประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าเขตเจ้าพนักงานศาลเจอร์ซีย์ และเขตเจ้าพนักงานศาลเกิร์นซีย์ มักจะถูกเรียกรวมกันว่าดินแดนแห่งหมู่เกาะแชเนิล แต่ดินแดนแห่งหมู่เกาะแชเนิลนั้นไม่ใช่หน่วยการปกครองและไม่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง โดยทั้งเจอร์ซีย์ ไอล์ออฟแมนนั้นก็มีความสัมพันธ์ในระดับการปกครองแยกออกจากเกิร์นซีย์โดยสิ้นเชิง และถือเป็นดินแดนปกครองตนเองในอาณัติของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรด้วยกันทั้งสิ้น
  • เจอร์ซีย์
    เจอร์ซีย์ (Jersey) เป็นหนึ่งในสามดินแดนปกครองตนเอง​ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร (Crown Dependency)​ ​ แต่ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งในสหราชอาณาจักร​ ตั้งอยู่ในหมู่เกาะแชเนิลบริเวณช่องแคบอังกฤษ และอยู่ใกล้เคียงกับชายฝั่งนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส ​ มีเมืองหลวงชื่อกรุงเซนต์เฮลิเยอร์ โดยเจอร์ซีย์เป็นดินแดนในหมู่เกาะแชเนิล ที่มีอาณาเขตอยู่ใกล้กับประเทศฝรั่งเศส​มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเกาะออลเดอร์นีย์​ของเกิร์นซีย์​

  • ไอล์ออฟแมน
    ไอล์ออฟแมน (Isle of Man, ; Ellan Vannin, ) เป็นดินแดนอาณานิคมปกครองตนเองของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ในเขตทะเลไอริช (Irish Sea) ในบริเวณศูนย์กลางของหมู่เกาะบริเตน (British Isles) ประมุขแห่งรัฐคือสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในฐานะเจ้าครองนครแห่งแมนน์ (ลอร์ดออฟแมนน์ - Lord of Mann) โดยมีข้าหลวงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไอล์ออฟแมนนี้ไม่ได้เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ แต่กิจการด้านการต่างประเทศ การป้องกันดินแดน และการบริหารระบบธรรมาภิบาลระดับสูงสุด (ultimate good-governance) ของไอล์ออฟแมนอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลสหราชอาณาจักร