ภาษาสันสกฤต

ภาษาสันสกฤต
ภาษาสันสกฤต (มาจากคำว่า संस्कृत-, สํสฺกฺฤต-, แปลงเป็นคำนาม: संस्कृतम्, สํสฺกฺฤตมฺ) เป็นภาษาคลาสสิกในเอเชียใต้ที่อยู่ในสาขาอินโด-อารยันของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ภาษานี้เกิดขึ้นในเอเชียใต้หลังจากที่ภาษารุ่นก่อนหน้าได้แพร่กระจายไปที่นั่นจากทางตะวันตกเฉียงเหนือในยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ภาษาของปรัชญาฮินดูคลาสสิก และภาษาของวรรณกรรมศาสนาพุทธและศาสนาเชนในอดีต นอกจากนี้ยังเป็นภาษากลางภาษาหนึ่งในเอเชียใต้สมัยโบราณถึงสมัยกลาง และในช่วงการเผยแผ่วัฒนธรรมฮินดูกับพุทธไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลางในสมัยกลางตอนต้น ได้กลายเป็นภาษาทางศาสนาและวัฒนธรรมชั้นสูง และภาษาของผู้ทรงอำนาจทางการเมืองในบางภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ภาษาสันสกฤตจึงมีอิทธิพลอย่างยาวนานต่อภาษาในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงศัพท์ทางการและวงศัพท์วิชาการของภาษาเหล่านั้น

โดยทั่วไป สันสกฤต สื่อความหมายถึงวิธภาษาอินโด-อารยันเก่าหลายวิธภาษา วิธภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มนี้คือภาษาพระเวทในคัมภีร์ ฤคเวท ซึ่งประกอบด้วยบทสวด 1,028 บทที่แต่งขึ้นในช่วงระหว่าง 1,500 ถึง 1,200 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยชนเผ่าอินโด-อารยันที่ย้ายถิ่นจากบริเวณที่เป็นอัฟกานิสถานในปัจจุบันไปทางตะวันออก ผ่านตอนเหนือของปากีสถาน แล้วเข้าสู่ตอนเหนือของอินเดีย ภาษาพระเวทมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาโบราณที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วในอนุทวีป โดยรับชื่อเรียกพืชและสัตว์ที่ค้นพบใหม่เข้ามาใช้ในภาษา นอกจากนี้ ภาษากลุ่มดราวิเดียนโบราณยังมีอิทธิพลต่อระบบสัทวิทยาและวากยสัมพันธ์ภาษาสันสกฤตด้วย สันสกฤต ในนิยามอย่างแคบอาจหมายถึงภาษาสันสกฤตแบบแผน ซึ่งเป็นรูปแบบไวยากรณ์ที่ผ่านการขัดเกลาและปรับเป็นมาตรฐานในช่วงกลางสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการจัดประมวลใน อัษฏาธยายี ตำราไวยากรณ์โบราณที่มีความครอบคลุมมากที่สุด กาลิทาส นักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่ แต่งผลงานเป็นภาษาสันสกฤตแบบแผน และรากฐานของเลขคณิตสมัยใหม่ได้รับการอธิบายครั้งแรกเป็นภาษาสันสกฤตแบบแผน อย่างไรก็ตาม มหากาพย์ภาษาสันสกฤตที่สำคัญอย่าง มหาภารตะ และ รามายณะ นั้นได้รับการแต่งขึ้นโดยใช้ทำเนียบภาษามุขปาฐะที่เรียกว่าภาษาสันสกฤตมหากาพย์ ซึ่งใช้กันในตอนเหนือของอินเดียระหว่าง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ. 300 และร่วมสมัยกับภาษาสันสกฤตแบบแผน ในหลายศตวรรษถัดมา ภาษาสันสกฤตได้กลายเป็นภาษาที่ผูกติดกับประเพณี ไม่ได้รับการเรียนรู้เป็นภาษาแม่ และหยุดพัฒนาในฐานะภาษาที่ยังมีชีวิตไปในที่สุด ทั้งนี้ ไม่พบหลักฐานว่าภาษาสันสกฤตมีตัวอักษรเป็นของตนเอง โดยตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนคริสต์สหัสวรรษที่ 1 มีการเขียนภาษานี้โดยใช้อักษรต่าง ๆ ในตระกูลพราหมี และในสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เขียนโดยใช้อักษรเทวนาครี

สถานะ หน้าที่ และตำแหน่งของภาษาสันสกฤตในมรดกวัฒนธรรมของอินเดียได้รับการรับรองผ่านการระบุรวมอยู่ในกำหนดรายการที่แปดของรัฐธรรมนูญอินเดีย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความพยายามฟื้นฟูภาษานี้ ก็ยังไม่มีผู้พูดภาษาสันสกฤตเป็นภาษาแม่ในอินเดียเลย

คำว่า สํสฺกฺฤต (संस्कृत) แปลว่า "กลั่นกรองแล้ว" ส่วนคำว่า สํสฺกฺฤตา วากฺ (संस्कृता वाक्) จะใช้เพื่อเรียก "ภาษาที่กลั่นกรองแล้ว" ซึ่งเป็นภาษาของชนชั้นพราหมณ์ ตรงข้ามกับภาษาพูดของชาวบ้านทั่วไปที่เรียกว่าปรากฤต ภาษาสันสกฤตมีพัฒนาการในหลายยุคสมัย โดยมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือภาษาที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท (เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในลัทธิพราหมณ์ในยุคต้น ๆ อย่างไรก็ตาม ในการจำแนกภาษาสันสกฤตโดยละเอียด นักวิชาการอาจถือว่าภาษาในคัมภีร์ฤคเวทเป็นภาษาหนึ่งที่ต่างจากภาษาสันสกฤตแบบแผน (Classical language) และเรียกว่า ภาษาพระเวท (Vedic language) ภาษาพระเวทดั้งเดิมยังมิได้มีการวางกฎเกณฑ์ให้เป็นระเบียบรัดกุมและสละสลวย และมีหลักทางไวยากรณ์อย่างกว้าง ๆ ปรากฏอยู่ในบทสวดในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู เนื้อหาคือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า เอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะในภาษาพระเวทคือระดับเสียง (accent) ซึ่งกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และถือเป็นสิ่งสำคัญของการสวดพระเวทเพื่อให้สัมฤทธิผล

ภาษาสันสกฤตมีวิวัฒนาการมาจากภาษาชนเผ่าอารยัน หรืออินโดยูโรเปียน (Indo-European) บรรพบุรุษของพวกอินโด-อารยัน ตั้งรกรากอยู่เหนือเอเซียตะวันออก (ตอนกลางของทวีปเอเชีย - Central Asia) โดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กลุ่มอารยันต้องเร่ร่อนทำมาหากินเหมือนกันชนเผ่าอื่น ๆ ในจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการแยกย้ายถิ่นฐาน การเกิดประเพณี และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ชนเผ่าอารยันได้แยกตัวกันออกไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 1 แยกไปทางตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป กลุ่มที่ 2 ลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นชนชาติอิหร่านในเปอร์เซีย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด กลุ่มนี้แยกลงมาทางใต้ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ชาวอารยันกลุ่มนี้เมื่อรุกเข้าในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุแล้ว ก็ได้ไปพบกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) และเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษา โดยชนเผ่าอารยันได้นำภาษาพระเวทยุคโบราณเข้าสู่อินเดียพร้อม ๆ กับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งในยุคต่อมาได้เกิดตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตคือ อษฺฏาธฺยายี (अष्टाध्यायी "ไวยากรณ์ 8 บท") ของปาณินิ เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในช่วงพุทธกาล ปาณินิเห็นว่าภาษาสันสกฤตแบบพระเวทนั้นมีภาษาถิ่นปนเข้ามามากพอสมควรแล้ว หากไม่เขียนไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนไว้ ภาษาสันสกฤตแบบพระเวทที่เคยใช้มาตั้งแต่ยุคพระเวทจะคละกับภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้การประกอบพิธีกรรมไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงแต่งอัษฏาธยายีขึ้น ความจริงตำราแบบแผนไวยากรณ์ก่อนหน้าปาณินิได้มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเกิดอัษฏาธยายีตำราเหล่านั้นก็ได้หมดความนิยมลงและสูญไปในที่สุด ผลของไวยากรณ์ปาณินิก็คือภาษาเกิดการจำกัดกรอบมากเกินไป ทำให้ภาษาไม่พัฒนา ในที่สุด ภาษาสันสกฤตแบบปาณินิ หรือภาษาสันสกฤตแบบฉบับ จึงกลายเป็นภาษาเขียนในวรรณกรรม ซึ่งผู้ที่สามารถจะอ่าน เขียนและแปลได้จะต้องใช้เวลามากพอสมควร

ภาษาสันสกฤตแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มกว้าง ๆ ได้แก่ ภาษาสันสกฤตแบบแผน และภาษาสันสกฤตผสม