ภาษามลายู

ภาษามลายู
ภาษามลายู (bahasa Melayu, อักษรยาวี: بهاس ملايو, อักษรเรอจัง: ꤷꥁꤼ ꤸꥍꤾꤿꥈ) เป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน มีสถานะเป็นภาษาราชการในประเทศบรูไน ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย และใช้สื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการในประเทศติมอร์-เลสเตและบางส่วนของประเทศไทย ภาษานี้มีผู้พูด 290 ล้านคน (ประมาณ 260 ล้านคนในอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวซึ่งมีมาตรฐานเป็นของตนเองที่เรียกว่า "ภาษาอินโดนีเซีย") โดยเป็นภาษาแม่ของผู้คนตลอดสองฟากช่องแคบมะละกา ซึ่งได้แก่ ชายฝั่งคาบสมุทรมลายูของมาเลเซียและชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และได้รับการยอมรับเป็นภาษาแม่ในชายฝั่งตะวันตกของซาราวักและกาลีมันตันตะวันตกในเกาะบอร์เนียว นอกจากนี้ยังใช้เป็นภาษาการค้าในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งได้แก่ ตอนใต้ของคาบสมุทรซัมบวงกา, กลุ่มเกาะซูลู และเมืองบาตาราซาและบาลาบัก (ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะปาลาวัน

ในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ (Bahasa Kebangsaan หรือ Bahasa Nasional) ของรัฐเอกราชหลายรัฐ ภาษามลายูมาตรฐานมีชื่อทางการแตกต่างกันไป ในบรูไนและสิงคโปร์เรียกว่า "ภาษามลายู" (Bahasa Melayu) ในมาเลเซียเรียกว่า "ภาษามลายู" (Bahasa Melayu) หรือ "ภาษามาเลเซีย" (Bahasa Malaysia) และในอินโดนีเซียเรียกว่า "ภาษาอินโดนีเซีย" (Bahasa Indonesia) อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเกาะสุมาตราที่ซึ่งภาษามลายูเป็นภาษาพื้นเมือง ชาวอินโดนีเซียจะเรียกภาษานี้ว่า "ภาษามลายู" และมองว่าเป็นภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาประจำภูมิภาคของตน

ภาษามลายูมาตรฐาน (หรือที่เรียกว่าภาษามลายูราชสำนัก) เคยเป็นวิธภาษามาตรฐานในวรรณกรรมของรัฐสุลต่านมะละกาและยะโฮร์สมัยก่อนอาณานิคม ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกว่าภาษานี้ว่าภาษามลายูมะละกา, ภาษามลายูยะโฮร์ หรือภาษามลายูรีเยา (หรือชื่ออื่น ๆ ที่ใช้ชื่อเหล่านี้ประกอบกัน) เพื่อแยกให้แตกต่างกับภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษาในกลุ่มภาษามลายู จากข้อมูลของเอ็ทนอล็อก (Ethnologue) วิธภาษามลายูต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีรายชื่อเป็นภาษาแยกต่างหาก (รวมถึงวิธภาษาโอรังอัซลีในมาเลเซียตะวันตก) มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับภาษามลายูมาตรฐานมากจนอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีภาษามลายูการค้าและภาษาครีโอล (creole) จากภาษามลายูอีกจำนวนมากซึ่งมีพื้นฐานจากภาษากลางที่พัฒนามาจากภาษามลายูตามแบบแผนดั้งเดิม เช่นเดียวกับภาษามลายูมากัซซาร์ซึ่งปรากฏว่าเป็นภาษาผสม

ภาษามลายูเป็นภาษารูปคำติดต่อ การสร้างคำใหม่ทำได้ 2 วิธีคือ ลงวิภัติปัจจัยที่รากศัพท์ สร้างคำประสมหรือซ้ำคำ

ประเทศ
  • หมู่เกาะโคโคส
    ดินแดนหมู่เกาะโคโคส (คีลิง) (Territory of Cocos (Keeling) Islands) หรือโดยย่อว่า หมู่เกาะโคโคส (คีลิง) (Cocos (Keeling) Islands; Pulu Kokos (Keeling); Kepulauan Cocos (Keeling)) เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่เพียง 14 ตารางกิโลเมตร เป็นดินแดนส่วนนอกของประเทศออสเตรเลีย ตั้งอยู่ระหว่างประเทศออสเตรเลียกับประเทศศรีลังกา ใกล้กับเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย จัดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเขตซีกโลกใต้ เดิมดินแดนแห่งนี้มีชื่อว่า หมู่เกาะโคโคส หรือ หมู่เกาะคีลิง แต่หลังถูกรวมเข้ากับประเทศออสเตรเลียเมื่อ ค.ศ. 1955 ดินแดนแห่งนี้จึงถูกเรียกด้วยทั้งสองชื่อตั้งแต่นั้น

    ดินแดนประกอบไปด้วยอะทอลล์ 2 แห่ง และเกาะปะการัง 27 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียงสองเกาะเท่านั้นที่มีคนอาศัย คือเกาะเวสต์และเกาะโฮม มีประชากรราว 600 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูโคโคส นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาแม่
  • เกาะคริสต์มาส
    ดินแดนเกาะคริสต์มาส (Territory of Christmas Island, 圣诞岛领地, Wilayah Pulau Krismas) หรือโดยย่อว่า เกาะคริสต์มาส (Christmas Island, 圣诞岛, Pulau Krismas) เป็นเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่เพียง 135 ตารางกิโลเมตร เป็นดินแดนส่วนนอกของประเทศออสเตรเลีย อยู่ห่างจากเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 2,360 กิโลเมตร และห่างจากกรุงจาการ์ตาของประเทศอินโดนีเซียไปทางใต้ 500 กิโลเมตร

    การสำรวจสำมะโนครัวประชากรบนเกาะเมื่อ ค.ศ. 2021 มีประชากรทั้งหมด 1,692 คน โดยมากตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนเหนือของเกาะ มีนิคมใหญ่สุดคือฟลายอิงฟิชโคฟ (หรือเดอะเซตเทิลเมนต์) ประชากรราวสองในสามเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนหรือชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน แต่ในการสำรวจสำมะโนครัวประชากรครั้งล่าสุดพบว่ามีเพียงร้อยละ 21.2 เท่านั้น รองลงมาเป็นชาวมลายูและชาวออสเตรเลียเชื้อสายยุโรป ส่วนประชากรกลุ่มย่อยได้แก่ ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และชาวยูเรเชีย ภาษาหลักที่ใช้คือภาษาอังกฤษ จีน และมลายู ส่วนศาสนาหลักบนเกาะคือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ ประชากรจำนวนไม่น้อยนับถือศาสนาแต่ไม่ได้ระบุชื่อศาสนาที่นับถือ