ภาษามราฐี

ภาษามราฐี
ภาษามราฐี (मराठी, Marāṭhī, ) เป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยันที่พูดโดยชาวมราฐีในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย โดยเป็นภาษาทางการในรัฐมหาราษฏระ และภาษาร่วมทางการในรัฐกัวกับดินแดนดาดราและนครหเวลี และดามันและดีอู ภาษามราฐีเป็นหนึ่งใน 22 ภาษากำหนดที่มีผู้พูดใน ค.ศ. 2011 ที่ 83 ล้านคน ภาษามราฐีเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้พูดเป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากเป็นอันดับที่ 3 ในอินเดีย โดยเป็นรองเพียงภาษาฮินดีและภาษาเบงกอล ภาษานี้มีวรรณกรรมบางส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของภาษาในอินเดียสมัยใหม่ทั้งหมด ซึ่งสืบต้นตอถึงประมาณ ค.ศ. 600 สำเนียงหลักของภาษามราฐีคือมราฐีมาตรฐานและสำเนียง Varhadi

ภาษามราฐีเป็นภาษาที่สืบทอดลักษณะทางไวยากรณ์และคำศัพท์จากภาษาสันสกฤต โดยผ่านภาษามหาราษฏรี ซึ่งเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษาปรากฤต ในสมัยจักรวรรดิสาตวาหนะ ซึ่งมีราชธานีในเมืองประติษฐาน ในราวพุทธกาล ภาษามราฐีถือเป็นภาษาหลักของภูมิภาคนั้น และนับว่าเป็นภาษาปรากฤตที่แผร่หลายกว้างขวางที่สุดในยุคนั้น และโดดเด่นเหนือกว่าภาษาปรากฤตทั้งหมดที่ใช้ในวรรณคดีประเภทบทละคร (ได้แก่ มหาราษฏรี เสารเสนี และมาคธี) นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษามหาราษฎรีแขนงหนึ่งในการบันทึกคัมภีร์ศาสนาเชน ขณะที่จักรพรรดิสัตตสัยทรงแต่งโศลก 700 บท เป็นชิ้นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาวรรณกรรมภาษามหาราษฎรี ภาษามหาราษฏรีค่อยๆ วิวัฒนาการไปสู่ภาษามราฐี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16

ภาษาปรากฤตหลายภาษารวมทั้งภาษามหาราษฏรีเป็นภาษาที่สืบทอดมาจากภาษาสันสกฤตพระเวท และต่อมาได้พัฒนาเป็นภาษาสมัยใหม่รวมทั้งภาษามราฐี อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า ภาษามราฐีได้มีการรวมลักษณะของกลุ่มภาษาดราวิเดียนโบราณในบริเวณนั้นซึ่งใกล้เคียงกับบริเวณของผู้พูดภาษากันนาดาและภาษาเตลูกู และได้รวมลักษณะของภาษามหาราษฏรีและภาษาสันสกฤตเอาไว้ด้วย นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับหรือภาษาอูรดูซึ่งทำให้ภาษานี้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาฮินดี

ภาษามหาราษฏรีใช้เป็นภาษาพูดจนถึงประมาณ พ.ศ. 1418 และเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิสาตวาหนะ ซึ่งมีการใช้เขียนวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง ภาษามหาราษฏรีจัดเป็นภาษาปรากฤตที่มีการใช้มากที่สุดทางตะวันตกและทางใต้ของอินเดียโดยใช้ในบริเวณมัลวา และราชปุตนะทางเหนือไปจนถึงกฤษณะและตุงคภัทรทางใต้

ประเทศ