ภาษาดัตช์

ภาษาดัตช์
ภาษาดัตช์ (Nederlands) เป็นกลุ่มภาษาเจอร์แมนิกตะวันตกที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่ประมาณ 23 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ประเทศซูรินาม และดินแดนโพ้นทะเลของเนเธอร์แลนด์ในแถบแคริบเบียนอันได้แก่ อารูบา ซินต์มาร์เติน และกือราเซา

ภาษาดัตช์มีความใกล้เคียงมากที่สุดกับภาษาอาฟรีกานส์ซึ่งเป็นภาษาที่มีที่มาจากภาษาดัตช์ในประเทศแอฟริกาใต้ในศตวรรษที่ 17 และภาษาเยอรมันต่ำในประเทศเยอรมนีตอนเหนือ

คำว่า "ดัตช์" (Dutch) เป็นคำคุณศัพท์ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับคำภาษาเยอรมันว่า "ด็อยทช์" (deutsch) และคำภาษาดัตช์ "เดาท์ซ" (duits) ซึ่งในปัจจุบันเป็นคำคุณศัพท์ที่หมายถึงประเทศเยอรมนี คำนี้มีที่มาจากรากศัพท์ในภาษาเจอร์แมนิกดั้งเดิมว่า *þeudō ซึ่งหมายถึงกลุ่มชน ในยุคกลาง คำนี้ได้กลายมาเป็นคำเรียกแทนชนชาติและภาษาของตนเองในภาษาเจอร์แมนิกตะวันตกต่างๆ เช่น diutsch ในภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง และ duutsc หรือ dietsc ในภาษาดัตช์ยุคกลาง โดยมีความหมายในลักษณะ "ภาษาของประชา" ที่ไม่ใช่ภาษาละติน ในภาษาอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 15-16 คำว่า Dutch ในภาษาอังกฤษยังคงมีความหมายถึง "เยอรมัน" ในความหมายอย่างกว้าง (ที่รวมถึงเนเธอร์แลนด์) ก่อนที่จะมีความหมายเจาะจงถึงเนเธอร์แลนด์หลังจากที่สาธารณรัฐดัตช์กลายเป็นรัฐเอกราช

คำเรียกภาษาดัตช์ในภาษาดัตช์ในปัจจุบันคือ "เนเดอร์ลันดส์" (Nederlands) ในประเทศเบลเยียมบางครั้งจะเรียกภาษาดัตช์ที่ใช้ในแฟลนเดอส์ว่า "ฟลามส์" (Vlaams; ภาษาเฟลมิช)

ประเทศ
  • กูราเซา
    กูราเซา (Curaçao) หรือ กอร์ซอว์ (Kòrsou) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ประเทศกูราเซา (Land Curaçao; ปาเปียเมนตู: Pais Kòrsou; Country of Curaçao) เป็น 1 ใน 4 ประเทศองค์ประกอบของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นประเทศเกาะซึ่งประกอบด้วยเกาะกูราเซากับเกาะไกลน์กูราเซา (ไม่มีคนอาศัยอยู่) ตั้งอยู่ในหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลีส ทางตอนใต้ของทะเลแคริบเบียน ห่างจากชายฝั่งตอนเหนือของประเทศเวเนซุเอลาออกไปประมาณ 65 กิโลเมตร

    กูราเซามีพื้นที่ 444 ตารางกิโลเมตร (171 ตารางไมล์) มีประชากร 160,337 คน ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017 และมีวิลเลมสตัดเป็นเมืองหลวง พื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ การกลั่นน้ำมันซึ่งนำน้ำมันดิบมาจากเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว
  • ซินต์มาร์เติน
    ซินต์มาร์เติน (Sint Maarten, ) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ประเทศซินต์มาร์เติน (Land Sint Maarten; Country of Sint Maarten) เป็นประเทศองค์ประกอบแห่งหนึ่งภายในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ครอบคลุมเฉพาะตอนใต้ของเกาะเซนต์มาร์ตินในทะเลแคริบเบียน ขณะที่พื้นที่อีกครึ่งทางตอนเหนือมีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส (มีชื่อว่า แซ็ง-มาร์แต็ง) ซินต์มาร์เตินมีประชากรประมาณ 37,000 คน บนเนื้อที่ 34 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงของดินแดนมีชื่อว่า ฟีลิปส์บืร์ค

    เดิมซินต์มาร์เตินมีสถานะเป็น "ดินแดนเกาะซินต์มาร์เติน" (Island Territory of Sint Maarten) และเป็นหนึ่งในดินแดนเกาะห้าแห่งที่ประกอบกันเป็นเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2010 เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสถูกยุบเลิก ซินต์มาร์เตินจึงกลายเป็นประเทศปกครองตนเองโดยตรงของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
  • อารูบา
    อารูบา (ดัตช์และปาเปียเมนตู: Aruba) เป็นเกาะหนึ่งมีความยาว 32 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลีสในทะเลแคริบเบียน อยู่ห่างจากคาบสมุทรปารากัวนา (รัฐฟัลกอน ประเทศเวเนซุเอลา) ไปทางเหนือ 27 กิโลเมตร อารูบาเป็นหนึ่งในสี่ประเทศองค์ประกอบ (constituent country) ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เกาะแห่งนี้มีความแตกต่างจากดินแดนส่วนใหญ่ในแถบแคริบเบียน กล่าวคือ มีอากาศแห้ง ภูมิอากาศเช่นนี้สนับสนุนการท่องเที่ยวเนื่องจากผู้มาเยือนสามารถคาดหวังว่าจะได้พบอากาศอบอุ่นและแสงแดดจัดได้แน่นอน เกาะนี้มีเนื้อที่ 193 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเอบีซี (ABC islands)

    อารูบาเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลีส หรือเจาะจงลงไปอีกก็คือแนวลูกโซ่ลีเวิร์ดแอนทิลลีส โดยทั่วไปมีลักษณะราบเรียบ ไม่มีแม่น้ำ แต่ก็มีชื่อเสียงจากหาดทรายสีขาวที่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางชายฝั่งทางใต้และตะวันตกของตัวเกาะ ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับการกำบังจากกระแสน้ำอันรุนแรงจากมหาสมุทร ส่วนชายฝั่งทางเหนือและตะวันออกไม่ได้รับการป้องกัน จึงได้รับผลกระทบจากทะเลมากกว่าและมนุษย์ก็ไม่ได้เข้าไปแตะต้องมากนัก ภายในเกาะมีเนินเขาบางแห่งที่มีความสำคัญ เช่น โฮยแบร์ค (Hooiberg) มีความสูง 165 เมตร (541 ฟุต) และเมานต์ยามาโนตา (Mount Jamanota) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเกาะ มีความสูง 188 เมตร (617 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล
  • แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์
    การิบิซเนเดอลันด์ หรือ แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์ (Caribisch Nederland; ) เป็นเขตเทศบาลพิเศษของเนเธอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน ประกอบไปด้วยสามเขตคือ หมู่เกาะโบแนเรอ, ซินต์เอิสตาซียึส (สเตเชีย) และซาบา คำว่า "แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์" นั้นบางครั้งอาจถูกใช้ในการกล่าวอ้างถึงทุกเกาะในดัตช์แคริบเบียน ในทางกฎหมายทั้งสามหมู่เกาะยังเป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่มเกาะ เบเอเอส (BES-eilanden) ซึ่งมาจากตัวย่อตัวแรกรวมกันของชื่อหมู่เกาะ โดยปัจจุบันหมู่เกาะทั้งสามเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ในฐานะหน่วยสาธารณะ (openbaar lichaam) สามแห่งตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ก่อนหน้านั้นเกาะเหล่านี้เป็นดินแดนเกาะของเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสซึ่งเป็นประเทศในอดีตที่อยู่ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองภายในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ หมู่เกาะทั้งสามเป็นหนึ่งใน "ประเทศและดินแดนโพ้นทะเลของสหภาพยุโรป" ดังนั้นกฎหมายของสหภาพยุโรปจึงไม่มีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ

    ในแง่ของจำนวนประชากร การิบิซเนเดอลันด์เป็นพื้นที่เล็กที่สุด สามในหกแห่งของอาณาเขตในแคริบเบียนที่เป็นของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (ไม่ใช่ในแง่ของพื้นที่: โบแนเรอมีขนาดใหญ่กว่าซินมาร์เตินมาก)
  • ประเทศซูรินาม
    ซูรินาม (Suriname, Surinam, ; Suriname, ) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐซูรินาม (Republic of Suriname; Republiek Suriname) เดิมรู้จักกันในชื่อ "ดัตช์กีอานา" เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ระหว่างเฟรนช์เกียนาทางทิศตะวันออกกับกายอานาทางทิศตะวันตก เขตแดนทางทิศใต้ติดต่อกับบราซิล ส่วนทางเหนือจรดมหาสมุทรแอตแลนติก พื้นที่ทางใต้สุดของประเทศกำลังเป็นกรณีพิพาทกับกายอานาและเฟรนช์เกียนา

    ในปลายศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้มาตั้งอาณานิคมริมแม่น้ำซูรินาม ต่อมาเนเธอร์แลนด์ได้ทำความตกลงแลกอาณานิคมกับอังกฤษ โดยที่เนเธอร์แลนด์ได้ครอบครองอาณานิคมซูรินาม ส่วนอังกฤษได้ครอบครองนิวอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ (คือนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน)