ภาษาเคิร์ด

ภาษาเคิร์ด
ภาษาเคิร์ด (Kurdî, کوردی) เป็นภาษาหรือกลุ่มภาษาที่พูดโดยชาวเคิร์ดในภูมิภาคเคอร์ดิสถานกับชาวเคิร์ดพลัดถิ่น ภาษาเคิร์ดอยู่ในกลุ่มภาษาอิหร่านตะวันตก ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ภาษาย่อยสามภาษาหลักของภาษานี้คือภาษาเคิร์ดเหนือ (Kurmanji), ภาษาเคิร์ดตอนกลาง (Sorani) และภาษาเคิร์ดใต้ (Xwarîn)

กลุ่มภาษาซาซา–โกรานี กลุ่มภาษาอิหร่านตะวันตกเฉียงเหนือที่ไม่ใช่เคิร์ด เป็นกลุ่มภาษาที่ผู้มีเชื้อสายเคิร์ดใช้พูดหลายล้านคน ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่พูดสำเนียงกุรมันชี และข้อความภาษาเคิร์ดส่วนใหญ่เขียนในอักษรกุรมันชีและโซรานี สำเนียงกุรมันชีเขียนด้วยชุดตัวอักษรฮะวารที่มาจากอักษรละติน ส่วนสำเนียงโซรานีเขียนด้วยชุดตัวอักษรโซรานีที่มาจากอักษรอาหรับ

การจัดอันดับให้ภาษาลากีเป็นภาษาย่อยของภาษาเคิร์ดใต้หรือเป็นภาษาที่สี่ของภาษาเคิร์ดยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่ความแตกต่างระหว่างภาษาลากีกับสำเนียงเคิร์ดใต้อื่น ๆ มีน้อย

เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนพุทธศักราช เผ่าที่พูดภาษากลุ่มอิหร่านได้แพร่กระจายเข้าไปในบริเวณที่เรียกเคอร์ดิสถานในปัจจุบัน เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษากลุ่มอิหร่านตะวันตกเฉียงเหนือ นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าผู้พูดภาษาเมเดียในยุคเหล็กเป็นบรรพบุรุษของผู้พูดภาษาเคิร์ดในปัจจุบัน มีหลักฐานที่แสดงถึงอิทธิพลของภาษาฮูร์เรียคือไวยากรณ์แบบสัมพันธการก อีกภาษาหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาษาเคิร์ดคือภาษาแอราเมอิก (M.R. Izady (1993)) หนึ่งในสามของชื่อเผ่าและสองในสามของชื่อภูมิประเทศในภาษาเคิร์ดมาจากภาษาฮูร์เรีย

ประเทศ
  • เมโสโปเตเมีย
    เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia; Μεσοποταμία, เมโซโปตามีอา) เป็นคำกรีกโบราณ ตามรูปศัพท์แปลว่า "ที่ระหว่างแม่น้ำ" (meso = กลาง + potamia = แม่น้ำ) โดยมีนัยหมายถึง "ดินแดนระหว่างแม่น้ำแม่น้ำไทกริสกับยูเฟรทีส" ดินแดนดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์" (Fertile Crescent) ซึ่งเป็นดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ทอดโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจรดอ่าวเปอร์เซีย

    เมโสโปเตเมียเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง เมโสโปเตเมีย แปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำไทกรีสและยูเฟรทีส (ปัจจุบันคือดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอิรัก) ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำทั้งสองสายเป็นพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้กลุ่มชนชาติต่างๆเข้ามาทำมาหากินและสร้างอารยธรรมขึ้น รวมทั้งถ่ายทอดอารยธรรมจากกลุ่มหนึ่งสู่กลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดอารยธรรมแบบผสม