สิทธิพิเศษถอนเงิน

สิทธิพิเศษถอนเงิน
สิทธิพิเศษถอนเงิน (special drawing rights, ย่อ: XDR หรือ SDR) เป็นสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นิยามและรักษาไว้ มูลค่าของสิทธิฯ ขึ้นอยู่กับตะกร้าเงินตราระหว่างประเทศสำคัญที่ IMF ทบทวนทุกห้าปี ตามการทบทวนซึ่งจัดทำเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ตะกร้า XDR ประกอบด้วยเงินตราห้าสกุลดังนี้ ดอลลาร์สหรัฐ ($) 41.73%, ยูโร (€) 30.93%, ปอนด์สเตอร์ลิง (£) 8.09%, เยนญี่ปุ่น (¥) 8.33% และล่าสุดคือ หยวนจีน (¥) 10.92% น้ำหนักที่ให้กับเงินตราแต่ละสกุลในตะกร้า XDR ปรับเพื่อให้คิดความโดดเด่นปัจจุบันของเงินตรานั้น ๆ ในแง่การค้าระหว่างประเทศและทุนสำรองแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศประจำชาติต่าง ๆ

XDR มิใช่เงินตราโดยสภาพ แต่แทนเงินตราที่ประเทศสมาชิก IMF ถือซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจาก XDR สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราห้าสกุลข้างต้นเท่านั้น XDR แท้จริงจึงแทนการอ้างสิทธิ์โดยศักยะต่อทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มิใช่ทองคำของประเทศสมาชิก IMF ซึ่งปกติถือในรูปเงินตราเหล่านี้

XDR สร้างขึ้นในปี 2512 เพื่อเสริมการขาดแคลนสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ต้องการ กล่าวคือ ทองคำและดอลลาร์สหรัฐ สิทธิพิเศษถอนเงินแสดงด้วยรหัสเงินตรา XDR ตาม ISO 4217

IMF เป็นผู้จัดสรร XDR ให้แก่ประเทศต่าง ๆ โดยภาคเอกชนไม่มีสิทธิใช้หรือถือครอง ในเดือนสิงหาคม 2552 มีจำนวน XDR อยู่ประมาณ 21,400 ล้านหน่วย ระหว่างวิกฤตการณ์การเงินโลก พ.ศ. 2552 มีการจัดสรร XDR เพิ่มอีก 182,600 ล้าน XDR เพื่อ "ให้สภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมทุนสำรองอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิก" ต่อมาเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์และรัฐมนตรีการคลังของหลายประเทศยากจน ร้องขอประเทศสมาชิกให้จัดสรรเพิ่มอีกเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยในการฟื้นตัว ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 กลุ่มประเทศ G24 และประเทศอื่นตกลงกันที่จะเสนอให้จัดสรร XDR เพิ่มอีกในมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิทธิพิเศษถอนเงินถูกสร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี ค.ศ. 1969 โดยเดิมตั้งใจให้เป็นสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1 XDR เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับทอง 0.888671 กรัม หลังจากการล่มสลายของระบบในต้นยุค 1970s SDR สำคัญน้อยลง และบทบาทหลักกลายเป็นหน่วยวัดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) ตั้งแต่ ค.ศ. 1972

IMF เองก็เรียกบทบาทในปัจจุบันของ XDR ว่า ไม่สำคัญ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งถือ XDR เป็นจำนวนมากไม่น่าจะใช้ประโยชน์ใดๆ ผู้ใช้หลักของ XDR น่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมองเป็น "วงเงินราคาถูก"

หนึ่งในเหตุผลที่ XDR ไม่ได้ถูกใช้งานในฐานะของทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างแพร่หลายก็เพราะ XDR ต้องถูกแปลงเป็นสกุลเงินก่อนจึงจะใช้ได้ และเนื่องจากภาคเอกชนไม่ได้เป็นผู้ถือ XDR ผู้ถือของ XDR มีได้แค่ประเทศสมาชิก, ตัว IMF เอง และองค์กรอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการอนุญาตโดย IMF ทำให้การใช้งานหลักของทุนสำรองระหว่างประเทศอย่าง การแทรกแซงตลาด การเสริมสภาพคล่อง หรือการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก ไม่สามารถทำได้โดยตรงผ่าน XDR ด้วยเหตุนี้ IMF จึงเรียก XDR ว่า "สินทรัพย์ทุนสำรองที่ไม่สมบูรณ์"

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือจำนวนของ XDR ยังน้อยเกินไป ณ ค.ศ. 2011 XDR เป็นสัดส่วนเพียง 4% ของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ดีจำเป็นจำต้องมีสภาพคล่องที่เพียงพ แต่เนื่องจากประมาณของ XDR ที่น้อย จึงอาจถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง IMF กล่าวว่าการเพิ่มจำนวนของ XDR อย่างเป็นทางการเป็นเงื่อนไขที่ต้องทำก่อนที่จะทำให้ XDR มีบทบาทที่มากขึ้นในฐานะของสินทรัพย์ทุนสำรองทางเลือก